ธงมนต์

มนตราธวัช…ธงอธิษฐานแห่งเนปาล

“ธงมนตรา” เขียนบทสวดมนต์ภาวนาที่ตนศรัทธา ลงบนผืนผ้าหลากสี อธิษฐานจิตขอพร แล้วจึงนำมนตราธวัชนั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา การผูกธงมนตราเป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการเสริมมงคล เป็นการขอพรให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรยาน ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามหลักธรรม

ธงมนต์ตรา มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธศาสนา ช่วงเวลานั้นนักบวชในลัทธิบอน (ลัทธิที่บูชาภูตผีวิญญาณ) ได้ย้อมผืนผ้าเป็นสีต่างๆ เพื่อใช้ประกอบพิธีรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ตามความเชื่อในเรื่องความสมดุลของธาตุทั้งห้า

โดยเรียงธงไว้รอบตัวผู้ป่วย เพื่อช่วยปรับธาตุต่างๆในร่างกาย จะได้หายเจ็บป่วย มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นความเชื่อในเรื่องความสมดุลของธาตุ

ธงมนตราเป็นความเชื่อเรื่องวิญญาณในลัทธิดั้งเดิมของชาวทิเบต ผนวกเข้ากับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวัชรยานน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวพุทธทิเบตถึงทุกวันนี้

ทำไมต้องผูกไว้ในที่ลมพัดแรง? ธงมนต์ นิยมแขวนโยงขวางเส้นทางเดินตัดภูเขา ทางลัดเลาะ ลำธาร ในวัด หรือสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ การผูกธงมนต์จะผูกไว้เหนือลม โดยเชื่อกันว่าเมื่อลมพัดผ่านธงมนต์ ลมจะพัดพาบทสวดไปตามสายลม ทำให้ผู้ที่ได้รับลมนั้นเหมือนได้รับพรจากการสวด การที่มนตราธวัชโบกปลิวหนึ่งครั้งนั้นเทียบเท่ากับการสวดมนต์ถึงหนึ่งพันจบเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วกระแสลมยังจะช่วยพัดพาให้มนตราและคำอธิษฐานขอพรต่างๆ ในตัว ของธงเองได้ล่องลอยไปตามสายลม และไปอำนวยอวยพรและบันดาลความมีโชคมีชัยให้กับบุคคลอื่นๆ ที่เดินทางผ่านไปมา
อีกด้วย

มนต์คาถาบนผืนธง…
คาถา หรือมนต์ เป็นพยางค์ คำ หรือเสียงที่มีความขลัง ความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงสามารถควบคุมพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น

ถอดรหัส… “มนตราคาถา” บนผืนธง
สีที่ใช้กับธงมนตรามี 5 สี บอกความหมายถึงธาตุทั้ง 5 และจัดเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้ เริ่มจากสีเหลือง หมายถึง ดิน, สีเขียว หมายถึง น้ำ, สีแดง หมายถึง ไฟ, สีขาว หมายถึง ลม และสุดท้ายเป็นสีฟ้า หมายถึง อากาศธาตุ

ชาวทิเบตถือว่าการผูกธงมนตราเป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการเสริมมงคล เป็นการขอพรให้มีชีวิตยืนยาว นิยมแขวนโยงขวางเส้นทางเดินตัดภูเขา ทางลัดเลาะ ลำธาร ในวัด หรือสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในวันปีใหม่และวันสำคัญทางศาสนา เพื่อให้มนตราอันเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ได้ล่องลอยไปกับสายลมที่พัดผ่าน จนกระทั่งถึงสรวงสวรรค์ที่สถิตแห่งทวยเทพ

ตัวหนังสือบนธงมนตรามีหลากหลาย ทั้งคาถา พระสูตร บทสวดทั่วไป และคำอวยพรต่างๆ

คาถา หรือมนต์ เป็นพยางค์ คำ หรือเสียงที่มีความขลัง ความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงสามารถควบคุมพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น มนต์คาถาที่ท่องซ้ำๆ ใช้เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการฝึกสมาธิ ภาษาที่ใช้แทบจะเป็นภาษาสันสกฤตทั้งหมด เพราะเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ อาจจะเป็นคำโดดๆ ที่เป็นหัวใจคาถาอย่าง “โอม” หรือแบบยาว “โอม มณี ปัทเม ฮุม” ซึ่งเป็นคำภาวนาของพระอวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์ที่มีพลังปกป้องคุ้มครอง

ส่วนพระสูตรในพุทธศาสนาวัชรยานที่ปรากฏบนธง มีความยาวขนาดกลางและสั้น พระสูตรขนาดสั้นที่พบมากจะเป็นบทสวดธารณี เช่น บนธงแห่งชัยชนะ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายนั้น มีบทสวดธารณีสูตรยาวหลายบรรทัด บทบูชาพระแม่ตารา 21 องค์ (ปาง) และอุษณีษวิชยธารณี หรืออุษณีชัยสูตร หรืออุณหิสวิชัยสูตร ซึ่งจะน้อมนำให้เข้าถึงพระรัตนตรัย เชื่อกันว่า หากสาธยายบ่อยๆ ก็จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ เป็นต้น

ไม่ว่าข้อความบนธงจะเขียนว่าอย่างไร แต่ทั้งหมดล้วนต้องการสื่อสิ่งดีงาม ความเป็นมงคล ที่ส่งผ่านผืนธงหลากสีนั้น

• ธงมนตราแบบต่างๆ
ธงลังตา หรือม้าลม เป็นชนิดธงที่พบบ่อยที่สุด จนมักคิดกันว่า ลังตา แปลว่า ธงมนตรา วัตถุประสงค์ของการทำธงนี้ คือ เพื่อให้เกิดความโชคดีร่ำรวย ตรงกลางของธงจะเป็นรูปม้าลม ซึ่งเป็นม้าที่บรรทุกอัญมณีแห่งการรู้แจ้ง และส่งพลังที่ดีให้ ตรงมุมทั้งสี่ มักจะเป็นรูปสัตว์ คือ ครุฑ มังกร เสือ และสิงโตหิมะ หรืออาจจะเป็นตัวหนังสือเขียนคำเรียกสัตว์ทั้งสี่นี้แทนก็ได้ ข้อความบนธงเป็นคาถามนตราหรือพระสูตรสั้นๆ

ธงแห่งชัยชนะ จารึกบทสวดสำหรับเอาชนะอุปสรรค สมัยก่อนมีการใช้ธงนำทัพ พระพุทธเจ้าก็ทรงกล่าวถึงพระอินทร์ว่าถือธงนำเหล่าเทพดาออกศึกสู้รบกับเหล่าอสูร และสาธยายมนต์ซ้ำๆ เพื่อคุ้มครองและสร้างขวัญกำลังใจให้กองทัพ เมื่อชาวทิเบตนำมาใช้ เนื้อหาบนธงจึงมีลักษณะถึงการเอาชนะอุปสรรค ศัตรู พลังชั่วร้าย และโรคภัย ธงนี้มักมีรูปสัญลักษณ์ประกอบ เช่น รูปม้าลม อัษฎมงคล (เครื่องหมายแห่งมงคลทั้งแปด) และรัตนสมบัติของจักรพรรดิตามความเชื่อเรื่องจักรวาทิน

ธงเกี่ยวกับสุขภาพและชีวิตยืนยาว มักจะมีคาถาจากพระสูตร หรือมนต์คาถาเพื่อสุขภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาว เช่น ธารณีคาถาของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต ซึ่งในความเชื่อของชาวทิเบต พระองค์มีกายสีน้ำเงินเข้ม นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาถือยาสมุนไพร พระหัตถ์ซ้ายถือบาตรวางบนพระเพลา ถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่สามารถรักษาโรคทางกาย และโรคทางกรรมของสัตว์โลก ในบางครั้งเราจะเห็นว่ามีการใช้สีน้ำเงินของพระวรกายเป็นสัญลักษณ์แทน

อีกคาถาที่นิยมคือ “นโม อมิตาภะ พุทธายะ” ของพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งพระนามว่า อมิตายุส (Amitayus) ในภาษาสันสฤต หมายถึง มีอายุอันประมาณค่ามิได้ หรืออีกพระนามว่า อมิตาภะ (Amitabha) หมายถึงความสว่างอันประมาณมิได้ เชื่อกันว่า ยามใกล้จะหมดลมจากโลกนี้ไป หากได้เอ่ยพระนามและระลึกถึงพระอมิตาภพุทธะ ก็จะได้ไปเกิดใหม่ในแดนสุขาวดีที่ทรงประทับอยู่

นอกจากนี้ ยังมีธงของผู้ศรัทธาพระโพธิสัตว์ตาราขาว หรือพระจินดามณีจักรตารา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระแม่ตาราขาว ซึ่งเชื่อว่าจะนำความสงบสุข สุขภาพดี และชีวิตยืนยาว พระแม่ตาราได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านความกรุณา รูปของพระแม่ตาราขาวนั้น ทรงชุดขาวล้วน มีพระเนตร 7 ดวง หมายถึงเฝ้ามองสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลาด้วยความเมตตากรุณา พระหัตถ์ขวาประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว

ธงมนตราของคุรุปัทมสมภพ หรือกูรูรินโปเช พระผู้เป็นศูนย์รวมแห่งกาย วาจา ใจ การสวดหัวใจพระคาถาวัชรคุรุ ช่วยชำระล้างมลทินภพชาติที่มัวหมอง บนธงมักจะเขียนคาถาหัวใจของพระองค์ว่า “โอม อา ฮุม วัชร คุรุ ปัทมะ สิทธิ ฮุม” หรือ “โอม อา ฮุม บันซา กูรู เปมา สิทธิ ฮุม” หรือบทสวดอื่นๆ

ทุกครั้งที่ชักธงมนตราขึ้นไป ก็เหมือนได้ส่งคำคาถาที่พร่ำสาธยายเป็นประจำจากใจศรัทธาขึ้นสู่ฟากฟ้า ทุกครั้งที่ได้มองธงมนตราบนฟากฟ้า ใจก็สัมผัสได้ถึงคาถาจากเทพดาและสิ่งศักดิ์ที่พร่างพรมลงมาปลอบโยน เป็นกำลังใจ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งชาวทิเบตยังคงรักษาวิถีปฏิบัติจนถึงวันนี้

• อัษฎมงคลของทิเบต
อัษฎมงคล คือ มงคล 8อย่าง เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของทิเบต ที่พบได้เสมอในลวดลายภาชนะ เครื่องใช้ เครื่องประดับ สถาปัตยกรรม และบนธงมนตรา คล้ายกับอัษฎมงคลของไทยเรา แต่ของทิเบตประกอบด้วย
สังข์ขาว คือ สุรเสียงในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
คนโท สำหรับบรรจุน้ำสะอาดและทรัพย์มณีมีค่า สื่อความหมายถึงความบริสุทธิ์ สะอาด โชคลาภ
ฉัตร หรือร่ม เครื่องแสดงอิสริยยศในกองทัพ หมายถึงอำนาจบารมี และหมายถึงการปกป้องจากภัยร้าย
เงื่อนอนันตภาคย์ เป็นเงื่อนแห่งสิริมงคล ทุกช่องทางในความคดเคี้ยว สามารถผ่านได้ตลอด แม้ในกระแสเชี่ยวกรากของวิถีชีวิต หากดำเนินตามรอยพระพุทธองค์ ก็จะสามารถพบปัญญานำทางสู่ความรอดพ้นได้
ธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ของการทำงาน (เพื่อสร้างใหม่) การหมุนเวียน และความสมบูรณ์พร้อม (ไม่สิ้นสุด) หรือวัฏสงสารแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง
ปลาทอง เป็นสัญลักษณ์ของดวงตาแห่งปัญญา
ดอกบัว แม้เกิดแต่ตม แต่สามารถคงความสะอาดบริสุทธิ์แห่งตนไว้ได้
ตุง แทนความหมายของวิถีแห่งการดับทุกข์
.
มนตราธวัช…ธงอธิษฐานแห่งเนปาล
ตามวัดพุทธต่างๆ ในประเทศเนปาลจะมีแถบผ้าผืนเล็กๆ สีต่างๆ แขวนห้อยเรียงรายเป็นแถวและผูกโยง คล้องกับสถูปหรือต้นไม้สูง หรือโยงไปมากับผนังอาคารรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เรียกว่าโยงกันแบบระโยงระยางเลยทีเดียว แถบผ้าเหล่านั้นมีหลายสี ขาว แดง เหลือง น้ำเงิน ดำ ฟ้า เป็นต้น มีการเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ บทสรรเสริญเทพเจ้า บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณต่างๆ ลงบนผืนผ้าเหล่านั้นด้วย

ตามความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรยาน หรือตันตระยานนั้น ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามหลักธรรมประการหนึ่ง ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดมนต์ด้วยตนเองแล้ว การกระทำอื่นๆ ที่ช่วยให้มีผลต่อการสวดมนต์นั้นๆ ก็จะกระทำด้วย นั่นคือที่มาของ “มนตราธวัช” หรือ “ธงมนต์” หรือ “ธงมนตรา”

ความเชื่อของชาวพุทธในเนปาลและรวมไปถึงในประเทศทิเบต ภูฏาน และสิกขิม จะนิยมเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ภาวนาที่ตนศรัทธา ลงบนผืนผ้าต่างสี จากนั้นจะอธิษฐานจิตขอพร แล้วจึงนำมนตราธวัชนั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา โดยจะแขวนโยงจากศาสนสถานเป็นหลัก หากไม่มีพื้นที่เหลือหรือสุดกำลังความสามารถที่จะปีนป่ายขึ้นไปแขวนเองได้ จึงจะนำไปผูกโยงไว้ในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียงหรือหลังคาบ้าน ช่องเขา หน้าผา และทางเดินที่เป็นช่องทางที่ลมพัดผ่านได้โดยสะดวก

ตามความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณ ถือกันว่าสายลมที่โบกพัดอยู่ทุกวี่วันจะเป็นผู้นำคำอธิษฐานทั้งปวงรวมทั้งบทสวดที่ได้ตั้งจิตถวายเป็นพุทธบูชาแล้วนั้น พลิ้วปลิวขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ การที่มนตราธวัชโบกปลิวหนึ่งครั้งนั้นเทียบเท่ากับการสวดมนต์ถึงหนึ่งพันจบเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วกระแสลมยังจะช่วยพัดพาให้มนตราและคำอธิษฐานขอพรต่างๆ ในตัวของธงเองได้ล่องลอยไปตามสายลม และไปอำนวยอวยพรและบันดาลความมีโชคมีชัยให้กับบุคคลอื่นๆ ที่เดินทางผ่านไปมาอีกด้วย

การที่มนตราธวัชปรากฏในสีที่แตกต่างกันนั้น สืบเนื่องจากความหมายที่มีหลากหลายประการ ความหมายแรกคือสีประจำธาตุเกิดของตนเอง คือ

สีแดง เป็นตัวแทนของธาตุไฟ
สีน้ำเงิน เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ
สีเขียว เป็นตัวแทนของธาตุลม
สีขาว เป็นตัวแทนของโลหะ
สีเหลือง เป็นตัวแทนของธาตุดิน

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและยอมรับกันทั่วไป คือ ความหมายถึงสีผิวของพระวรกาย และรัศมีที่ทรงเปล่งออกมาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์พระองค์ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดังนั้นสีของธงที่แตกต่างกัน ก็จะหมายถึงตัวแทนขององค์เทพที่บูชาที่แตกต่างกันไป

มนตราธวัชสีเขียว จะหมายถึง พระคันธหัสติโพธิสัตว์ กายสีเขียวหรือขาวอมเขียว 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถืองาช้าง วางบนดอกบัวหรือถือสังข์

หรือพระอากาศครรภโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความปีติอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการช่วยเหลือสรรพสัตว์จำนวนมากพ้นประมาณ สัญลักษณ์คือพระอาทิตย์ มือขวาถือเพชรพลอย มือซ้ายถือดวงแก้ว กายสีเขียว มี 2 กร

มนตราธวัชสีเหลือง จะหมายถึง พระคคนคัญชะโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือต้นกัลปพฤกษ์ หัตถ์ขวายกขึ้น หัตถ์ซ้ายวางบนสะโพก กายสีเหลือง มี 2 กร

หรือพระจุณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้แยกตัวมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ ทุกกรล้วนมีสิ่งของไม่เหมือนกัน บ้างก็แตกต่างกันไป กายสีเหลืองหรือขาว 3 เนตร 18 กร

หรือพระชญาณเกตุโพธิสัตว์ กายสีเหลืองหรือฟ้า 2 กร มือขวาถือธงกับเพชรพลอย มือซ้ายทำท่าประทานพรหรือพระสรรวโศกตโมนิรฆาตมตีโพธิสัตว์ กายสีเหลืองอ่อนหรือเหลือง มี 2 กร มือขวาถือคทา มือซ้ายวางบนสะโพก

หรือพระอโมฆทรรศินโพธิสัตว์ กายสีเหลือง 2 กร มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายวางบนสะโพก

มนตราธวัชสีแดง จะหมายถึง พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือพระชาลินีประภาโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือวงกลมแห่งดวงอาทิตย์ หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระอาทิตย์บนดอกบัว กายสีแดง มี 2 กร หรือพระภัทรปาลโพธิสัตว์ กายสีแดงหรือขาว มี 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถือเพชรพลอย

มนตราธวัชสีขาว จะหมายถึง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้ทรงเป็นองค์แทนกรุณาของพระพุทธเจ้า ผู้สดับเสียงคร่ำครวญในโลก และคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามวัฏสงสาร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลที่สุดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

หรือพระจันทรประภาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกของพระไภษัชยคุรุ สัญลักษณ์คือดวงจันทร์วางบนดอกบัว หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระจันทร์บนดอกบัว กายสีขาว 2 กร

หรือพระอักษมยมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์ คือ พระขรรค์หรือหม้อน้ำ มือขวาประทานพร มือซ้ายทาบบนพระอุระ กายสีขาวหรือเหลืองนวล มี 2 กร

หรือพระสุรังคมโพธิสัตว์กายสีขาว 2 กร มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายวางบนสะโพก

หรือพระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์ กายสีขาวหรือฟ้า มี 2 กร มือขวาทำญาณมุทรา มือซ้ายทำท่าปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

หรือพระสรรวาปายัญชหะโพธิสัตว์ กายสีขาว 2 กร ทำท่าขจัดบาป หรือถือขอสับช้างทั้งสองมือ

หรือพระสาครมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือสังข์หรือคลื่น ยื่นพระหัตถ์ไปข้างหน้า ทำนิ้วเป็นรูปคลื่น กายสีขาว มี 2 กร

มนตราธวัชสีฟ้า จะหมายถึง พระวัชรครรภโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือหนังสือ มือขวาถือวัชระ มือซ้ายถือหนังสือ กายสีฟ้า มี 2 กร

มนตราธวัชสีดำ จะหมายถึง พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนพลังของพระพุทธเจ้า

และในบางครั้งมนตราธวัชที่มีสีเหลือง เขียว หรือแดง ยังอาจหมายถึง พระประติภานกูฏโพธิสัตว์ ผู้มีผิวกายสีเหลือง เขียว หรือแดง มือขวาถือแส้ มือซ้ายวางบนเพลา มี 2 กรได้อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ชาวเนปาลยังมีความเชื่อด้วยอีกว่า หากมนตราธวัชนั้นโบกพลิ้วปลิวอยู่นานๆ แล้ว คำขอพร คำอธิษฐาน และมนตราต่างๆ ที่จารึกอยู่บนธงนั้นจะจืดจางลง ต้องใช้ใบสนหูเสืออย่างสดๆ มาจุดรมควัน คล้ายเป็นกำยาน เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มอานุภาพฤทธีให้ทวิทวีมากขึ้นเป็นประจำทุกปี หากเกิดการเปื่อยขาดลง ก็จะทิ้งไว้ตามเดิม แต่จะเพิ่มมนตราธวัชที่สมบูรณ์ขึ้นแขวนแทนที่ใหม่เสมอๆ

——————–
Prayer Candle
——————-
ธงหลากสี มีอักขระ หรือภาพ คล้ายๆกับผ้ายันต์ เป็นสิ่งที่คุ้นตาในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย รวมทั้งเนปาล ผู้คนที่ไปเยือนเนปาล หรือไปปีนเขาเอเวอเรสต์ก็จะคุ้นตากับ ธงศักดิ์สิทธิ์แบบนี้เป็นอย่างดี ธงหลากสีสันที่มีความหมายลึกซึ้งมากไปกว่า ความงดงามทีโบกสะบัดในสายลม

เมื่อลมพัดสายธงที่เต็มไปด้วยมนตราและภาพสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธ์ ก็เหมือนกับส่งพลังศักดิ์สิทธิให้ครอบคลุมไปทั่วทั้งบริเวณ เสมือนเครื่องรางและสิ่งนำโชคให้กับผู้คนในบริเวณนั้น

มีทัศนคติว่าตราบเท่าที่สายลมพัดผ่าน..กระแสธรรมแห่งองค์พระสัมมา ก็จักล่องลอยไป..ในอากาศ ขอลมโปรดได้นำพระธรรมแผ่ไปต้องโสตประสาท ต้องจิตใจของทุกคนไปผ่านไปมา ขอทุกท่านจงได้รับพร รับพลังแห่งพระธรรมขององค์พระสัมมาทุกทั่วทุกตัวตน.. ฯ และทุกครั้งที่กระแสลมต้องแผ่นธง..ทุกครั้งที่ธงโบกสะบัดพัดไปมา ก็จักถือว่าเป็นการสาธยายมนตราเพื่อสิริมงคลชีวิตของผู้ผูกติดธงนี้ไว้ แลเป็นการป้องกันภัยปกปักรักษาแก่ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา

ความหมายอันลึกซึ้งเบื้องหลัง ธงโบกสะบัดในสายลม คือวัฏสังสารของชีวิต

Prayer Flag ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึง สันติภาพ ความมีเมตตา ความเข้มแข็งและปัญญา มีความเข้าใจผิดๆว่า ธงนำบทสวดไปสู่พระเจ้า แต่ที่จริงแล้วชาวธิเบตมีความเชื่อว่าบทสวด และมนตราที่อยู่บนธง จะถูกลมพัดพาเพื่อนำเอาสิ่งดีๆ และความรักความเมตตา แผ่ซ่านไปสู่ทุกหนทุกแห่ง บนโลกใบนี้ การแขวนธงศักดิ์สิทธิไว้ในที่สูงๆ ก็เพื่อจะนำ พรที่อยู่บนธงไปสู่ทุกๆชีวิต เพราะว่าสายลมที่พัดผ่านผิวของผืนธง จะดูดซับ และได้รับพลังจากมนตรา บทสวดเหล่านั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

เมื่อภาพและอักษรบนธงจางลง อันเกิดจากสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้า ก็เหมือนกับชีวิตที่จะต้องเดินหน้าต่อไป และถูกทดแทนด้วยชีวิตใหม่ ชาวธิเบต และเนปาล จะสร้างความหวังใหม่ๆของพวกเขา โดยการแขวนธงใหม่ทับไปบนธงเก่า สิ่งนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการยินดีต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และเป็นความเข้าใจ เป็นการยอมรับว่าทุกสรรพสิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักร หรือ วัฏสังสาร ที่ยิ่งใหญ่

สำหรับคนเนปาลแล้ว ยอดเขา เอเวอเรส ไม่ใช่เป็นเพียงยอดเขาสูงที่สวยงาม ท้าทายหัวใจที่รักการพจญภัย แต่ยอดเขาเอเวอเรส เปรียบเสมือนศาสนสถาน สถานที่สถิตของพระเจ้า จะว่าไปชาวเนปาล จึงอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า วิถีแห่งชีวิตจึงใกล้ชิดกับพลังอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และแสดงออกผ่านความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ รวมถึง Prayer Flag นี้ด้วย ในทัศนะของชาวเนปาล ความทุกข์และความสุข ชีวิตและความตายอยู่ใกล้กันจนเป็นเหมือนเงาของกันและกัน อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่คาดคิด ชาวเนปาลและชนชาติที่อยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยจึงมีความเคารพยำเกรงต่อพลังอันยื่งใหญ่ของธรรมชาติ มนุษย์เป็นเพียงสิ่งเล็กๆภายใต้พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ควบคุมความเป็นไปของจักรวาลนี้

ในผืนธงทุกผืนดูเหมือนมีพลังพิเศษที่ทำให้เกิดความสุขสงบทุกครั้งเวลาที่เราเดินผ่าน รู้สึกถึงพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่นำมาแขวนไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา

ชาวพุทธแบบวัชรยาน หรือตันตระยานนั้น ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามหลักธรรมประการหนึ่ง ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดมนต์ด้วยตนเองแล้ว การกระทำอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการสวดมนต์นั้นๆ ก็จะกระทำไปด้วย และนี่คือที่มาของ “ธงมนตรา”, “มนตราธวัช”, “ธงมนต์”, หรือ “ธงอธิษฐาน” ในธง 1 ชุด หรือ 1 เส้นจะมีทั้งหมดอยู่ 5 สีด้วยกัน โดยแต่ละสีจะมีความหมายที่แตกต่างกัน

สีน้ำเงิน เป็นตัวแทนของ ท้องฟ้า หรือ อากาศ เป็นตัวแทนของการชำระล้างและบำบัดรักษา มีความเชื่อว่าถ้าตั้งจิตอธิษฐานกับสีน้ำเงิน จะช่วยลดทอนความโกรธหรือโทสะภายในจิตใจ และพัฒนาไปสู่ปัญญาได้

สีขาว เป็นตัวแทนของลม มีความเชื่อว่า การทำสมาธิและตั้งจิตอธิษฐานกับสีขาว จะช่วยขจัดความเขลาและความหลงผิดหรือโมหะออกไปจากจิตใจได้ และนำพาไปสู่การพัฒนาปัญญาที่รู้แจ้งและเห็นจริงตามสัจธรรมได้

สีแดง เป็นตัวแทนของธาตุไฟ เป็นตัวแทนของพลังงานความร้อนทั้งปวง ทั้งภายนอกและภายในกายเรา

สีเขียว เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ น้ำมีธรรมชาติเป็นของเหลวที่มีการเคลื่อนไหว มีความเชื่อว่าหากทำสมาธิและตั้งจิตอธิษฐานกับสีแดง จะช่วยลดทอนความอิจฉาริษยาภายในจิตได้

สีเหลือง เป็นตัวแทนของธาตุดิน เป็นตัวแทนสิ่งที่เป็นของแข็ง มีมวล มีความแน่นทึบ เช่น แกนโลก กระดูก เส้นเอ็น ฟัน และผิวหนัง นอกจากนี้ สีทั้ง 5 ยังเป็นตัวแทนของทิศต่างๆ คือ ทิศเหนือ (สีฟ้า), ทิศใต้ (สีขาว), ทิศตะวันออก (สีแดง), ทิศตะวันตก (สีเขียว) , และทิศศูนย์กลาง (สีเหลือง) อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของปัญญา 5 ประการในทางพุทธศาสนานิกายมหายาน คือ ความเมตตา, ปัญญาแห่งการมองเห็นและเข้าใจ, ความกลมเกลียวสามัคคี, ความเอื้ออารี, และการมีปัญญาที่สมบูรณ์แบบ

บนผืนธงจะเขียนบทสวดเป็นภาษาสันสฤตมีความหมายที่สื่อถึงที่เป็นสิริมงคลและดีงามทั้งหลาย ที่เมื่อสวดแล้วจะกระจายพลังด้านบวกออกไปสู่ธรรมชาติ ชาวธิเบต เนปาล และอินเดีย เชื่อว่าสิ่งดีงามและพลังด้านบวกของบดสวดนี้ จะสามารถส่งต่อและกระจายออกไปพร้อมกับสายลมที่พัดพาไปยังสถานที่ต่างๆ จะอำนวยพรให้แก่ผู้ที่เดินทางผ่านไปมาให้ประสบกับความโชคดี ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ธงอธิษฐานนี้มักจะถูกแขวนหรือขึงอยู่บนที่สูง ตามยอดเขา หรือสถานที่ๆมีลมพัดผ่าน

ธงอธิษฐานจะถูกแขวนใหม่ทุกๆปี ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ โดยจะไม่มีการถอดของเก่าออก เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ผู้พบเห็นได้เข้าใจถึงสัจธรรมและวงจรของทุกสรรพสิ่งในโลก ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการเสื่อมโทรม และย่อยสลายไปตามกาลเวลา ธงราวเส้นใหม่ที่แขวนทับลงบนเส้นเดิม ก็เปรียบเสมือนกับการโอบกอดและยิ้มรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งมวลที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา

ธงมนต์ ที่โบกสะบัดในทุกที่เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ความเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกาศความศรัทธาให้ขยายออกไป

ธงมนต์สะบัดไหวไม่เคยหยุดนิ่งยกเว้นในช่วงฤดูกาลหนาวที่หิมะปกคลุม ช่วงนั้นผืนผ้าแห่งธงมนต์จะผูกนิ่งแต่ยังคงสีสันตัดกับหิมะสีขาวเฝ้ารอฤดูกาลใหม่ที่จะได้สะบัดปลิวอีกครั้ง

ธงมนต์ ธงมนตรา หรือธงมนตราธวัช ตัวแทนความศรัทธา ความหวัง และคำขอพรจากผู้ที่นำผ้าหลากสีไปผูกไว้ ทุกครั้งที่ธงมนต์สะบัดปลิว ผู้คนบนเทือกเขาหิมาลัยเชื่อว่า นั่นคือบทสวดมนต์ที่พวกเขาได้เขียนไว้บนผืนผ้า กำลังเปล่งบทสวดดังตามแรงปลิวของสายลมแห่งเทือกเขาหิมาลัย

เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ถูกกำหนดขึ้นโดยนักบวชในลัทธิบอน ที่ยังคงบูชาภูติผีวิญญาณ ธงมนต์ในยุคแรกถูกย้อมสีด้วยสีธรรมชาติกำหนดขึ้นจากธาตุทั้งห้า นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ เพื่อใช้เป็นเครื่องปัดเป่ายามเจ็บไข้ได้ป่วย ขอพรยามมีความสุข และเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพต่อธรรมชาติ เพื่อให้ภูติผีวิญญาณคุ้มครอง

ธาตุทั้ง 5 ประกอบรวมขึ้นหมายรวมถึงธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์เองก็ประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 การเคารพต่อธรรมชาติเป็นวิถีของชาวเอเชียไม่ว่าผู้คนจะมีความเชื่อในรูปแบบใด โดยเฉพาะผู้คนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ ซึ่งปัจจุบันนับถือนิกายวัชรยานที่ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง และนอบน้อมต่อธรรมชาติ

การเขียนคาถาไว้ในธงมนต์มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ในทิเบตเชื่อว่าการเขียนคาถาบทสวดไว้ในธงมนต์ ทุกครั้งที่สายลมพัดสะบัดปลิวคาถาในธงมนต์จะพร่ำสวดเพื่อขอพรจากสวรรค์ เมื่อผู้คนเห็นธงมนต์หมายถึงสัญลักษณ์แห่งการปลอบประโลมให้กำลังใจเหมือนได้รับพรจากสวรรค์ ส่วนความเชื่อในแคว้นลาดัก ประเทศอินเดีย หรือชาวเนปาลเชื่อว่า เมื่อสายลมพัดให้ธงสะบัดปลิว บทสวดขอพรจะนำพรไปสู่ผู้คน เปรียบเหมือนสายลมนำความสุข สุขภาพ และอำนวยพรให้แก่ผู้คน

เมื่อเวลาผ่านไปธงมนต์ได้ถูกตีความเพิ่มขึ้นในเรื่องความโชคดี ร่ำรวย ชัยชนะ แม้กระทั่งช่วยให้สุขภาพดี หายขาดจากโรคภัยทั้งปวง อ้างจากหลักฐานพบว่า การวาดรูปสัญลักษณ์ประดับในธงมนต์ เรียกว่าธงลังตา มีความหมายให้เกิดความโชคดี ร่ำรวย สัญลักษณ์ธงลังตาจะมีม้าลมที่บรรทุกอัญมณีมากมายอยู่บนหลังวาดไว้กลางผืนธง มุมทั้ง 4 ด้านของผืนธงมีรูปครุฑ มังกร เสือ และสิงโตหิมะ ในช่วงที่ทิเบตมีปัญหาเรื่องการสู้รบทั้งระหว่างชนเผ่าและการสู้รบกับจีน ได้มีการสร้างธงแห่งชัยชนะขึ้นมาเพื่ออำนวยพร สร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนและนักรบ ธงชนิดนี้ยังใช้เป็นธงนำทัพอีกด้วย ส่วนความหมายที่เพิ่มมาอีกคือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ การขอให้อายุยืนยาว ซึ่งธงกลุ่มนี้จะมีคาถาที่เขียนกำกับเป็นภาษาสันสกฤตไว้

บทสวดที่เขียนกำกับไว้ที่ธงมนต์มักมีเพียงไม่กี่บทสวด ทั้งหมดเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อขอความสว่างทางปัญญาให้ตัวเอง ชำระล้างความมัวหมองของจิตใจ การเขียนบทสวดมนต์กำกับในธงมนต์ครั้งแรกเริ่มจากพระเขียนกำกับไว้บนธงทีละผืน ซึ่งก็เหมือนกับการเขียนคาถาซ้ำๆ ให้สมาธิตั้งมั่นอยู่กับบทสวดซ้ำๆ ต่อมามีการใช้แกะแม่พิมพ์บนวัสดุไม้เพื่อให้พิมพ์บทสวดบนธงมนต์ได้มากขึ้น

ทุกวันขึ้นปีใหม่ ธงมนต์ผืนใหม่ที่ได้เขียนบทสวดบนผืนธงทั้ง 5 สีจะถูกผูกไว้ในที่ลมพัดผ่านทั้งในศาสนสถาน สะพาน ภูเขา แม่น้ำ หรือในสถานที่ชุมชนโดยไม่นำธงผืนเก่าออก ทุกปี ธง 5 สีจะถูกผูกซ้ำๆ จนบางสถานที่เต็มไปด้วยธงผืนเก่าขาดวิ่น หรือสีจืดจาง มีนัยยะให้ระลึกว่าทุกอย่างในโลกนี้ย่อมเสื่อมสลายไปกับกาลเวลา ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ตั้งอยู่ในความศรัทธา เคารพต่อธรรมชาติให้มาก และยอมรับในเรื่องที่ว่าร่างกายเราจะเสื่อมไปในที่สุด

ไพ่นี้ความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ที่ไพ่ แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของผู้พยากรณ์ และจิตวิญญาณของผู้ที่เดินเข้ามาให้เราพยากรณ์ต่างหาก

รูปและสัญลักษณ์บนธงอธิษฐาน

โดยทั่วไปสัญญลักษณ์ตรงกลางของธงเป็นรูปม้าทรงพลัง (Lung Ta) ที่กำลังทะยานไปพร้อมกับอัญมนีรูปเปลวเพลิง มีความหมายถึงการพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วและทรงพลัง เพื่อเปลี่ยนแปลงโชคร้ายสู่โชคดี อัญมณีไฟที่ลุกโชนคือรัตนตรัยของศาสนาพุทธอันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์

รอบๆ Lung Ta จะเป็นบทสวด และรูปภาพในทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน บทสวดเหล่านี้มาจาก 3 พระโพธิสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวทิเบตคือ Padmasambhava (Guru Rinpoche), Avalokiteśvara (Chenrezig, พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาและผู้มีพระคุณของชาวทิเบต) และ Manjusri นอกจากนั้นบทสวดนี้ยังให้พรและโชคดีแก่ผู้ที่ผูกธงมนตรานี้อีกด้วย

ทั้งสี่มุมของธงจะมีสัตว์ทรงพลังเรียกว่า Four Dignities คือ มังกร ครุฑ เสือ และสิงห์โตหิมะ

ธงอธิษฐานไม่ควรอยู่นิ่ง

อันที่จริงแล้วคำอธิษฐานจากบทสวดมนต์ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ บนธงไม่ได้ถูกส่งเพื่ออ้อนวอนนอธิษฐานต่อพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวทิเบตเชื่อว่าคำอธิษฐานและบทสวดนี้เป็นการกระจายความปรารถนาดีและความเมตตาในพื้นที่ ธงที่พัดปลิวไสวจากสายลมจึงจะมีประโยชน์ต่อทุกคน ดังนั้นเราจึงมักจะพบเห็นธงอธิษฐานในที่เปิดโล่งบนหลังคา ตามเส้นทางที่ราบสูง หรือยอดเขาสูงเทือกเขาหิมาลัย

สีที่ซีดจางแสดงว่าธงได้ค่อยๆนำคำอธิษฐานและคำอวยพรให้ปลิวออกไปสู่ผู้คน การซีดจางเป็นการแสดงถึงวัฏจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป และในที่สุดก็จะถูกแทนที่ด้วยชีวิตใหม่ธงใหม่ การสานต่อความหวังด้วยการติดธงใหม่อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับสิ่งเก่า เป็นสัญญลักษณ์ของการรับรู้การเปลี่ยนแปลงของชีวิตและรับรู้ว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

ธงอธิษฐานเป็นของขวัญที่ล้ำค่า

เป็นเรื่องน่ายินดีถ้าเราได้รับธงอธิษฐานนี้เป็นของขวัญจากเพื่อน หรือคนรู้จัก ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีมากเช่นกันหากได้ซื้อธงอธิษฐานนี้ให้กับผู้ที่เรารัก เหมือนเป็นการให้พร และจะได้นำพรนั้นมาติดเพื่อให้สายลมนำคำอวยพร และความปรารถนาดีไปสู่คนอื่นต่อไป

ส่วนใหญ่ชาวทิเบตจะเปลี่ยนธง หรือแขวนธงใหม่ในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันดีตามหลักโหราศาสตร์ของชาวทิเบต

Gterma เป็นแบบแผนแห่ง ทิเบต ที่ถูกขุดค้นอีกครั้ง หลังจากถูกซุกซ่อนโดยพระทิเบตเมื่อครั้งหมดศรัทธาในศาสนา Gterma ได้แก่ การอ่านหนังสือธรรมะ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการใฝ่รู้ทางศาสนา ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่มีมนต์ขลังมากที่สุด เพราะนั่นหมายความถึงการมี Gterma ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ เมื่อใดที่กายพร้อม ใจพร้อม จะเป็นตัวกำหนดแรงบันดาลใจลึกลับ แม้คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็สามารถเขียนพระไตรปิฎกขึ้นได้อย่างอัศจรรย์

ร่างสีรุ้ง ถือเป็นปรากฏการณ์ลึกลับแห่งพุทธศาสนาใน ทิเบต เป็นความเชื่อต่อกันว่า พระทิเบตผู้ซึ่งบรรลุธรรมขั้นสูงสุด เมื่อหมดลมหายใจ ร่างกายจะกลายเป็นสีรุ้ง สลายล่องลอยโดยไม่ต้องทำการฝังเหมือนศพทั่วไป

ธิเบตเป็นดินแดนแห่งอภินิหารและมนต์ มนตราคาถานั้นสร้างสมาธิ ใช้คำภาวนาในการเข้าถึงสมาธิ

มนต์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในนิกายมนตรยาน ถือเอาพระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่งสูงสุด จึงได้ยึดถือเอามนต์บทนี้เป็นมนต์ที่ทรงอิทธิฤทธิ์ และปาฎิหาริย์อย่างมาก ถอดออกมาได้เป็น

โอม คำนำหน้ามนต์คาถาทุกอย่าง
มณี หมาบุรุษพระพุทธเจ้า
ปัทเม ดอกบัว สสารที่ประกอบเป็นสังขาร
ฮูม หุง คำลงท้ายมนต์คาถาทุกบท เพื่อให้คาถามีความศักดิ์สิทธิ์ ความหมายเหมือน ” สวหุม ” หรือ ” สวาหะ ” ในภาษาสันสกฤต
หริ หฤทัย หัวใจ

ชาวธิเบตเชื่อว่า การเปล่งมนต์นี้แต่ละครั้ง จะสามารถดับการปฎิสนธิในภพทั้ง 6 ได้ เพราะความเชื่อชองพุทธศาสนาคือการเริ่มต้นแห่งทุกข์ การขจัดทุกข์อย่างสิ้นเชิง คือการไม่ปฎิสนธิ ไม่เกิดใหม่ ซึ่งก็คือนิพพาน

มนต์โอมปัทเมฮูม จะเขียนลงบนผืนผ้า เป็นธง เขียนลงไม้ สลักลงบนเหล็กรูปทรงกระบอกเมื่อเจอที่ไหน ผู้คนจะเอามือไปหมุน เพื่อเป็นเสมือนการภาวนาคาถานี้ ธงที่พัดโบก ก็เท่ากับเปล่งเสียงสวดมนต์นี้ เหตุนี้ธงธิเบตจึงได้ทรงอานุภาพ และมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะมนต์บทนี้แทบจะไม่เคยสิ้นเสียงสวดไปจากดินแดนนี้เลย

ต้นกำเนิดแห่งความศักดิ์สิทธิ์นั้น มาจากความศรัทธา พื้นที่ไหนที่ไม่มีศรัทธาเป็นพื้นฐานก็ไม่มีพลังแห่งศรัทธาไปหนุนให้เกิดอิทธฤทธิ์และปาฎิหาริย์ใดใดได้

ศรัทธาและความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ ความศักดิ์สิทธิ์ของไสยศาสตร์ ไม่ได้เพียงอยู่ที่ความเชื่อมั่นของตัวผู้ใช้หากแต่ยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ และภูมิประเทศอีกด้วย ไสยศาสตร์ที่แข็งกล้าส่วนหนึ่งเพราะเรื่องไสยเวทย์นั้นอยู่คู่กับดินแดนอุษาคเนย์มานานนัพบรรพกาล